วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

แข่งเรือหลังสวน(ตอนจบ)

“การแข่งขันเรือยาวหลังสวน” เริ่มมีขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่คาดคะเนกันว่ามีมานานกว่าร้อยปี เพราะผู้ที่เป็นปู่ย่าตาทวดได้เล่าให้ลูกหลานฟังสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ซึ่งหากจะว่าไปแล้วการแข่งขันเรือยาวในประเทศไทย หรือที่ใดๆในโลกก็มีกันอย่างแพร่หลาย ถ้าหากสถานที่นั้นๆ มีแม่น้ำลำคลองที่กว้างยาวพอที่จะใช้เป็นสนามแข่ง และการตัดสินแพ้ชนะก็คล้ายๆกัน คือจะถือเอาโขน (หัวเรือ)ที่เข้าเส้นชัยก่อนเป็นฝ่ายชนะ แต่ที่หลังสวนจากแตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงจุดนี้ เพราะการที่หัวเรือเข้าเส้นชัยก่อนไม่ได้หมายความว่าเรือลำนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ หากไม่สามารถชิงธงได้ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าแพ้หรือชนะก็ย่อมต้องขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของนายหัวเรืออีกด้วย ในการที่จะกะจังหวะเวลาไต่โขนและชิงธง ซึ่งธงที่ทำด้วยหวายเส้นเล็กสอดร้อยท่อไม้ไผ่ (แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นท่อ พีวีซี.) ผูกธงเล็กๆสีแดงไว้ที่ปลายทั้งสองด้าน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดึงธงได้ก่อนอีกฝ่ายก้จะไม่สามารถจับธงได้อีก ซึ่งจุดเสันชัยก็จะเป้นจุดที่มีกองเชียร์หนาแน่นที่สุด เพราะต้องลุ้นและเอาใจช่วยบรรดาฝีพายของตำบลตัวเอง และนี่ความแปลกแตกต่างที่ไม่เหือนการแข่งเรือที่ใดในโลก นี่คือการแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง วัฒนธรรมประเพณีที่มีเฉพาะลุ่มน้ำหลังสวน จ.ชุมพรเท่านั้น ในปี 2553 การจัดงานแข่งเรือ หรืองานเรือแข่งที่ชาวหลังสวนเรียกกัน จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 ตุลาคม 2553 โดยในงานจะมีกิจกรรมเด่นๆดังนี้


ก่อนถึงวันงาน 1 วัน คือวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีกิจกรรม ปิดเมืองกินฟรี (วันที่ 23 ตุลาคม 2553 เริ่มเวลาประมาณ 18.00 น. ถึง 21.00 น.)เป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อรวมน้ำใจชาวอำเภอ หลังสวน ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นการประชาสัมพันธ์เมือง หลังสวน โดยผู้คนในอำเภอ หลังสวน และอำเภอใกล้เคียง ร่วมกันนำอาหาร คาวหวาน มาบริการกันเอง โดยมีคณะกรรมการจัดหาอุปกรณ์ไว้บริการให้ทุกคน "งานนี้กินฟรี...ครับ" บนถนนเส้น หลังสวน ยาวเหยียดระยะทางเกือบ 3 กิโลเมตร

วันที่ 24 ตุลาคม 2553 จะมีกิจกรรมหลักที่เป็นไฮไลท์ของงานที่พลาดไม่ได้เลยประกอบด้วย
การตักบาตรเทโวโรหน และทอดผ้าป่า ซึ่งคณะกรรมการจัดงานนิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากทุกวัดในอำเภอหลังสวน รับบิณฑบาตรและรับผ้าป่าโดยมีประชาชน ร่วมกันทำบุญตักบาตรเทโวฯและทอดผ้าป่า ในเช้ามืดวันที่ เวลาประมาณ 06.00 น. หลังจากตักบาตรเทโวฯ กิจกรรมถัดมาบนถนนสายเดียวกัน ก็จะเริ่มพิธีชักพระแห่เรือพระบก เวลาประมาณ 10.00 น.เป็นประเพณีที่ชาวหลังสวนทุกตำบลรร่วมกับวัดจัดตกแต่งประดับประดาเรือพระบก ให้มีความสวยงามและสร้างสรรค์ พร้อมจัดขบวนพาเหรดที่สวยงานตระการตา แล้วนำมาเข้าร่วมขบวนแห่ซึ่งในกิจกรรมนี้จะมีการประกวดเรือพระและขบวนแห่ด้วย ใครที่ชอบถ่ายภาพต้องเตรียมกล้องให้พร้อม เตรียมเมมโมรี่การ์ดและแบตเตอรี่ไปให้พอ จะได้ไม่พลาดภาพสวยๆ ในการแห่เรือพระบก จะมีการอัญเชิญโล่ และถ้วยพระราชทาน ร่วมไปในขบวนพาเหรดนี้ด้วย นอกจากนี้ พี่น้องประชาชนยังจะได้ร่วมทำบุญกับเรือพระบกจากวัดต่างๆ อีกด้วย ขบวนแห่เรือพระบกประกอบไปด้วย กลองยาว วงโยธวาทิต วงดุริยางค์ เคลื่อนผ่านตลาด หลังสวน เข้าสู่ศาลาเอนกประสงค์ หน้าที่ว่าการอำเภอ หลังสวน เพื่อร่วมทำพิธีเปิดงาน ขบวนแห่ที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทางบกแล้วในช่วงภาคบ่ายจะเริ่มพิธีทางน้ำนั่นคือ พิธีแห่เรือทางชลมารค เวลาประมาณ 13.00 น. กิจกรรมนี้จะมีขึ้นที่สนามแข่งเรือในแม่น้ำหลังสวน โดยเริ่มจากบริเวณสะพานรางรถไฟที่เป็นจุดปล่อยเรือแล้วล่องตามน้ำไปประมาณ 500 เมตร ผ่านหน้าศาลาพิธีทางน้ำที่เป็นที่อัญเชิญโล่ห์พระราชทานอยู่ ณ จุดนี้ ทั้งนี้ทางคระกรรมการจัดงานโดยได้รับการสนับสนุนจาก กองเรือเล็กแผนกเรือพระราชพิธีกองทัพเรือ ร่วมกับขบวนเรือที่เข้าทำการแข่งขัน เพื่อเป็นเกียรติต่อชาวหลังสวนด้วย

การแข่งขันเรือยาว

1. เรือประเภทชิงโล่พระราชทาน ทำการแข่งขันวันที่ 1-2 ของงานโดยเริ่มตั้งแต่ เวลา 09.00 น. ถึง 17.00 น. เรือที่ชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
2. เรือประเภทชิงถ้วยพระราชทาน ทำการแข่งขันวันที่ 3-5ของงาน เริ่มทำการแข่งขันตั้งแต่เวลา09.00 น.ถึง 17.00 น. หากการแข่งขันไม่เสร็จสิ้น ก็จะให้มีการแข่งขันต่อในวันถัดไป เรือที่ชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
3. เรือประเภทนักเรียน ทำการแข่งขัน ในภาคบ่ายของแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น.ถึง 18.00 น. หากการแข่งขันไม่เสร็จสิ้นก็จะให้มีการแข่งขันต่อในวันถัดไปเรือที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยประทานของพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ
4. เรือประเภทเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้นำท้องถิ่น ทำการแข่งขันในวันแรกของงานคือวันที่ 24 เวลา 10.00 น. จนจบการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ รอบชิงชนะเลิศทำการแข่งขัน สลับกับการชิงชนะเลิศของเรือประเภทนักเรียน เรือชนะเลิศได้รับถ้วยประทานของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนา พรรณวดี

การประกวดเรือสวยงาม
เรือสวยงามที่ส่งเข้าประกวดจะต้องพายทุกวันตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2553 เรือสวยงามที่ชนะเลิศ ได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท

การประกวดเรือพระน้ำ
เรือพระน้ำที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีทุกวันตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2553 เรือพระน้ำที่ชนะเลิศการประกวด ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวับ 20,000 บาท

การประกวดกองเชียร์บนฝั่ง
กองเชียร์ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีการเชียร์ตั้งแต่เรือคู่แรกจนถึงคู่สุดท้ายของแต่ละวันตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2553 จนถึงชิงชนะเลิศในวันสุดท้ายของการแข่งขัน กองเชียร์ที่ชนะเลิศการแข่งขันได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัคราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

การประกวดเรือประเภทความคิด
เรือที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีทุกวันตั้งแต่วันแรกของงาน เรือที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัล 1 ใบ พร้อมเงิน 5,000 บาท

การประกวดเรือตลกขบขัน
เรือที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีทุกวันตั้งแต่วันวันแรกของงาน เป็นการสร้างสรรค์และเป็นการอนุรักษ์แม่น้ำ และประเพณี เรือที่ชนะการประกวดได้รับถ้วยรางวัล 1 ใบ พร้อมเงิน 5,000 บาท

การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
กีฬาพื้นบ้านที่จัดการแข่งขัน มี 3 ประเภทคือ 1. การแข่งขันตะกร้อ 2. การแข่งขันชักคะเย่อ 3. การแข่งขันหมากรุกไทย โดยให้แต่ละตำบลจัดส่งทีมกีฬาทั้ง 3 ประเภทเข้าร่วมทำการแข่งขันโดยใช้สนามหน้าที่ว่าการอำเภอหลังสวน รางวัลชนะเลิศได้รับถ้วยประทานหม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล

กิจกรรมส่งเสริมสินค้าชุมชน และสนับสนุนภูมิปัญญาไทย จัดจำหน่ายสินค้า โอท๊อป (OTOP) ที่ผ่านการคัดสรร ระดับ 3-5 ดาว จากจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของไทยรวม 6 ประเภท ได้แก่
1. ประเภทอาหาร
2. ประเภทเครื่องดื่ม
3. ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย
4. ประเภทของใช้และของประดับตกแต่ง
5. ประเภทศิลปะ ประดิษฐ์และของที่ระลึก
6. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
โดยจัดเป็น "เมือง โอท๊อป" (OTOP TOWN) ขนาดใหญ่ ที่สำคัญในงานนี้ท่านจะได้พบกับภูมิปัญญา แนวคิด ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของคนไทย ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงาน ณ สนามแข่งเรือแม่น้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร แล้วอย่าลืมนะครับออกพรรษานี้ไปพบกันที่งานแข่งเรือหลังสวน เพื่อร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของลุ่มน้ำหลังสวนด้วยกัน

ขอขอบคุณภาพประกอบเรื่องจาก Armoo Chumphontour.com
http://www.chumphontour.com/และ http://www.paknamlangsuan.com/ ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

แข่งเรือ -เรือแข่ง

แข่งเรือ -เรือแข่ง หลังสวน มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวนถิ่นกำเนิดแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง

แข่งเรือ แข่งเรือหลังสวน ชักชวน ชักชวนกันมา แรมค่ำเดือนสิบเอ็ดออกพรรษา มาเถิดหนา มาเถิดหนามาเที่ยว....บางท่อนของเพลงที่เคยได้ยินและหัดร้องตอนที่ยังเป็นเด็กโดยมีรุ่นพี่ที่ไปเรียนในเมือง โรงเรียนหลังสวนวิทยาคาร (ลสว.)สอนให้ร้อง เมื่อประมาณ30 กว่าปีที่แล้ว จำได้เพียงเท่านี้ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ความทรงจำในอดีตผุดขึ้นมาเป็นฉากๆ ทำให้คิดถึงบรยากาศเก่าๆ ในช่วงเวลาที่เคยเรียนอยู่โรงเรียนสวนศรีวิทยา และอาศัยเป็นลูกศิษย์วัดอยู่วัดด่านประชากร เมื่อถึงแรม 1 ค่ำเดือน 11 เมื่อใดเมืองที่เคยเงียบสงบกลับคึกคักขึ้นมาทันทีและข่าวการจัดงานงานถูกแพร่ออกจากวัดสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อที่ทันสมัยเช่นปัจจุบัน แม้แต่ลูกหลานคนหลังสวนที่ไปทำงานพลัดบ้านไกลถิ่นก็ยังต้องดิ้นรนกลับมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ และที่นี่คือเบ้าหลอมรวมความสามัคคี ที่เชื่อมโยงคนในสังคมอำเภอหลังสวนเข้าด้วยกัน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของลุ่มน้ำหลังสวน ที่มีความเป็นมานานนับร้อยปีให้สืบทอดต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดตราบเท่าที่ลูกหลานชาวหลังสวน ยังรักษาให้คงอยู่ เป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน

วันนี้ 10 กันยายน 2553 ในขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้ นับต่อไปอีกประมาณ เดือนเศษ ก็จะครบรอบช่วงเวลาวันแห่งความสุขของชาวหลังสวนอีกแล้ว โดยงานในปีนี้จะตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม 2553 (วันแรม 1 ค่ำเดือน 11) ตรงกับวัน "ปิยะมหาราช"ด้วย เชื่อว่าปีนี้คณะจัดงานแข่งเรือหลังสวนต้องจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพราะล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงมีคุณูปการต่อพสกนิกรชาวหลังสวน อย่างเอนกอนันต์ ในอตีดที่พระองค์ได้ทรงเสด็จประพาสต้น ผ่านมายังหลังสวน ยังมีหนังสือที่เขียนถึงบางยี่โร ชุมชนริมแม่น้ำหลังสวน (เรื่องตำข้าวสารกรอกหม้อ) เป็นการเตือนสติคนหลังสวนถึงการทำมาหากิน และรวมถึงการถือกำเนิดของเรือยาวที่ชื่อ "มะเขือยำ"ตำนานของการแข่งกันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงที่เป็นเอกลักษณ์ หนึ่งเดียวในโลกของลุ่มน้ำแห่งนี้ เป็นเรือที่เคยเป็นจ้าวแห่งสายน้ำมาหลายสมัย อีกทั้งยังเป็นเรือที่ได้ทำการแข่งขันหน้าพระที่นั่งของ รัชกาลที่ 5 มาแล้ว ปัจจุบันได้ปลดระวางแล้ว แต่ยังคงนำมาเป็นเรือนำขบวนพาเหรดทางน้ำก่อนมีการแข่งขันเรือยาวเป็นประจำทุกปี สำหรับความเป็นมาของ "เรือมะเขือยำ" ที่ไม่ได้มีการตั้งชื่อกันเล่นๆ แต่มีที่มาน่าสนใจมากทีเดียว มีการเล่าต่อกันมาว่า

เรือลำนี้มีอายุกว่าร้อยปี ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียน ที่ลอยน้ำมา ที่มีชาวบ้านดอนชัยพบเห็น และได้พยายามนำไม้ท่อนนี้ขึ้นฝั่งเพื่อจะนำไปทำเรือยาว แต่ไม่สามารถนำขึ้นฝั่งได้ ชาวบ้านจึงได้นำเรื่องนี้ไปบอกกล่าว หลวงพ่อเพชร วัดดอนชัย ซึ่งตามนิมิต ของหลวงพ่อในคืนก่อนหน้าที่จะมีชาวบ้านมาบอกเรื่องนี้ ได้ฝันเห็นว่า มีนางไม้ได้มาบอกว่าจะขอมาพึ่งบารมีของหลวงพ่อ แต่ขอให้ผู้ที่จะนำไม้ท่อนนี้ขึ้นฝั่งเพื่อใช้ในการทำเรือยาวนั้น ต้องทำพิธีอัญเชิญ โดยมีอาหารหวานคาวเซ่นไหว้ แต่ในบรรดาอาหารทั้งหมดที่พิเศษ กว่าอาหารอื่นๆ คือ "ยำมะเขือ"ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของคนหลังสวน หลังจาการเซ่นไหว้เสร็จเรียบร้อย จึงสามารถนำไม้ท่อนดังกล่าวขึ้นฝั่ง เพื่อทำเรือยาวได้ เรือลำนี้จึงได้ชื่อว่า "เรือมะเขือยำ" ตามของที่นำมาเซ่นไหว้ตั้งแต่นั้นมา และก่อนจะทำการนำเรือลงน้ำทุกครั้งจะต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยมะเขือยำทุกครั้งด้วย เรือมะเขือยำเป็นเรือยาวที่ใช้ สำหรับแข่งขัน ชนิด ๒๘ ฝีพาย โดยปรากฏในจดหมายเหตุประพาสต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ ระบุถึงเรือมะเขือยำ สังกัดวัดดอนชัย ซึ่งเป็นเรือยาวใช้ในการแข่งขัน และเป็นเรือลำหนึ่งในขบวนเรือรับเสด็จที่ตำบลบางขันเงิน อำเภอหลังสวน
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘) เรือนี้ได้นำเสด็จเรือกลไฟพระที่นั่งทอนิครอฟต์จากปากอ่าวไทยไปตามลำน้ำหลังสวน และเสด็จประทับพลับพลาตำบลบางขันเงิน นอกจากนี้ยังใช้เป็นเรือแข่งขันในงานประเพณีแข่งเรือยาวหลังสวน หลังเทศกาลออกพรรษา ช่วงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อีกด้วยจึงถือได้ว่า เรือมะเขือยำเป็นเรือที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เมืองหลังสวนมากทีเดียว ปัจจุบันเรือมะเขือยำไม่ได้ใช้แข่งขันอีกต่อไป แต่ยังใช้เป็นเรือเกียรติยศนำหน้าขบวนแห่ในพิธีเปิดการแข่งขันงานประเพณี แข่งเรือขึ้นโขนชิงธงที่อำเภอหลังสวน โดยก่อนถึงกำหนดงานเทศกาลดังกล่าว ทางวัดดอนชัยจะให้ช่างทำการตกแต่งทาสีเรือใหม่เป็นประจำทุกปี และปัจจุบันเรือมะเขือยำเก็บรักษาอยู่ทึ่วัดดอนชัย ตำบลพ้อแดง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สรุปวันนี้ยังไม่ได้เข้าเรื่องงานแข่งเรือหลังสวน หรือที่ชาวหลังสวนเรียกติดปากว่า "งานเรือแข่ง" เลย ขอพักก่อนตอนหน้ามาเล่าต่อครับ โปรดติดตาม

ขอขอบคุณภาพสวยๆจาก http://www.chumphontour.com/
และ http://www.paknamlangsuan.com/