วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

แข่งเรือ -เรือแข่ง

แข่งเรือ -เรือแข่ง หลังสวน มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวนถิ่นกำเนิดแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง

แข่งเรือ แข่งเรือหลังสวน ชักชวน ชักชวนกันมา แรมค่ำเดือนสิบเอ็ดออกพรรษา มาเถิดหนา มาเถิดหนามาเที่ยว....บางท่อนของเพลงที่เคยได้ยินและหัดร้องตอนที่ยังเป็นเด็กโดยมีรุ่นพี่ที่ไปเรียนในเมือง โรงเรียนหลังสวนวิทยาคาร (ลสว.)สอนให้ร้อง เมื่อประมาณ30 กว่าปีที่แล้ว จำได้เพียงเท่านี้ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ความทรงจำในอดีตผุดขึ้นมาเป็นฉากๆ ทำให้คิดถึงบรยากาศเก่าๆ ในช่วงเวลาที่เคยเรียนอยู่โรงเรียนสวนศรีวิทยา และอาศัยเป็นลูกศิษย์วัดอยู่วัดด่านประชากร เมื่อถึงแรม 1 ค่ำเดือน 11 เมื่อใดเมืองที่เคยเงียบสงบกลับคึกคักขึ้นมาทันทีและข่าวการจัดงานงานถูกแพร่ออกจากวัดสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อที่ทันสมัยเช่นปัจจุบัน แม้แต่ลูกหลานคนหลังสวนที่ไปทำงานพลัดบ้านไกลถิ่นก็ยังต้องดิ้นรนกลับมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ และที่นี่คือเบ้าหลอมรวมความสามัคคี ที่เชื่อมโยงคนในสังคมอำเภอหลังสวนเข้าด้วยกัน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของลุ่มน้ำหลังสวน ที่มีความเป็นมานานนับร้อยปีให้สืบทอดต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดตราบเท่าที่ลูกหลานชาวหลังสวน ยังรักษาให้คงอยู่ เป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน

วันนี้ 10 กันยายน 2553 ในขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้ นับต่อไปอีกประมาณ เดือนเศษ ก็จะครบรอบช่วงเวลาวันแห่งความสุขของชาวหลังสวนอีกแล้ว โดยงานในปีนี้จะตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม 2553 (วันแรม 1 ค่ำเดือน 11) ตรงกับวัน "ปิยะมหาราช"ด้วย เชื่อว่าปีนี้คณะจัดงานแข่งเรือหลังสวนต้องจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพราะล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงมีคุณูปการต่อพสกนิกรชาวหลังสวน อย่างเอนกอนันต์ ในอตีดที่พระองค์ได้ทรงเสด็จประพาสต้น ผ่านมายังหลังสวน ยังมีหนังสือที่เขียนถึงบางยี่โร ชุมชนริมแม่น้ำหลังสวน (เรื่องตำข้าวสารกรอกหม้อ) เป็นการเตือนสติคนหลังสวนถึงการทำมาหากิน และรวมถึงการถือกำเนิดของเรือยาวที่ชื่อ "มะเขือยำ"ตำนานของการแข่งกันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงที่เป็นเอกลักษณ์ หนึ่งเดียวในโลกของลุ่มน้ำแห่งนี้ เป็นเรือที่เคยเป็นจ้าวแห่งสายน้ำมาหลายสมัย อีกทั้งยังเป็นเรือที่ได้ทำการแข่งขันหน้าพระที่นั่งของ รัชกาลที่ 5 มาแล้ว ปัจจุบันได้ปลดระวางแล้ว แต่ยังคงนำมาเป็นเรือนำขบวนพาเหรดทางน้ำก่อนมีการแข่งขันเรือยาวเป็นประจำทุกปี สำหรับความเป็นมาของ "เรือมะเขือยำ" ที่ไม่ได้มีการตั้งชื่อกันเล่นๆ แต่มีที่มาน่าสนใจมากทีเดียว มีการเล่าต่อกันมาว่า

เรือลำนี้มีอายุกว่าร้อยปี ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียน ที่ลอยน้ำมา ที่มีชาวบ้านดอนชัยพบเห็น และได้พยายามนำไม้ท่อนนี้ขึ้นฝั่งเพื่อจะนำไปทำเรือยาว แต่ไม่สามารถนำขึ้นฝั่งได้ ชาวบ้านจึงได้นำเรื่องนี้ไปบอกกล่าว หลวงพ่อเพชร วัดดอนชัย ซึ่งตามนิมิต ของหลวงพ่อในคืนก่อนหน้าที่จะมีชาวบ้านมาบอกเรื่องนี้ ได้ฝันเห็นว่า มีนางไม้ได้มาบอกว่าจะขอมาพึ่งบารมีของหลวงพ่อ แต่ขอให้ผู้ที่จะนำไม้ท่อนนี้ขึ้นฝั่งเพื่อใช้ในการทำเรือยาวนั้น ต้องทำพิธีอัญเชิญ โดยมีอาหารหวานคาวเซ่นไหว้ แต่ในบรรดาอาหารทั้งหมดที่พิเศษ กว่าอาหารอื่นๆ คือ "ยำมะเขือ"ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของคนหลังสวน หลังจาการเซ่นไหว้เสร็จเรียบร้อย จึงสามารถนำไม้ท่อนดังกล่าวขึ้นฝั่ง เพื่อทำเรือยาวได้ เรือลำนี้จึงได้ชื่อว่า "เรือมะเขือยำ" ตามของที่นำมาเซ่นไหว้ตั้งแต่นั้นมา และก่อนจะทำการนำเรือลงน้ำทุกครั้งจะต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยมะเขือยำทุกครั้งด้วย เรือมะเขือยำเป็นเรือยาวที่ใช้ สำหรับแข่งขัน ชนิด ๒๘ ฝีพาย โดยปรากฏในจดหมายเหตุประพาสต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ ระบุถึงเรือมะเขือยำ สังกัดวัดดอนชัย ซึ่งเป็นเรือยาวใช้ในการแข่งขัน และเป็นเรือลำหนึ่งในขบวนเรือรับเสด็จที่ตำบลบางขันเงิน อำเภอหลังสวน
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘) เรือนี้ได้นำเสด็จเรือกลไฟพระที่นั่งทอนิครอฟต์จากปากอ่าวไทยไปตามลำน้ำหลังสวน และเสด็จประทับพลับพลาตำบลบางขันเงิน นอกจากนี้ยังใช้เป็นเรือแข่งขันในงานประเพณีแข่งเรือยาวหลังสวน หลังเทศกาลออกพรรษา ช่วงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อีกด้วยจึงถือได้ว่า เรือมะเขือยำเป็นเรือที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เมืองหลังสวนมากทีเดียว ปัจจุบันเรือมะเขือยำไม่ได้ใช้แข่งขันอีกต่อไป แต่ยังใช้เป็นเรือเกียรติยศนำหน้าขบวนแห่ในพิธีเปิดการแข่งขันงานประเพณี แข่งเรือขึ้นโขนชิงธงที่อำเภอหลังสวน โดยก่อนถึงกำหนดงานเทศกาลดังกล่าว ทางวัดดอนชัยจะให้ช่างทำการตกแต่งทาสีเรือใหม่เป็นประจำทุกปี และปัจจุบันเรือมะเขือยำเก็บรักษาอยู่ทึ่วัดดอนชัย ตำบลพ้อแดง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สรุปวันนี้ยังไม่ได้เข้าเรื่องงานแข่งเรือหลังสวน หรือที่ชาวหลังสวนเรียกติดปากว่า "งานเรือแข่ง" เลย ขอพักก่อนตอนหน้ามาเล่าต่อครับ โปรดติดตาม

ขอขอบคุณภาพสวยๆจาก http://www.chumphontour.com/
และ http://www.paknamlangsuan.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น